สเต็มเซลล์ (Stem Cell) เซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร บริจาคอย่างไร


สำหรับผู้ป่วยบางราย แค่เลือดเป็นถุงๆ ที่เราบริจาคกันอาจไม่พอ เพราะพวกเขาอาจต้องการ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด อีกด้วย แล้วสเต็มเซลล์คืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร บริจาคสเต็มเซลล์แล้วเราจะเป็นอะไรหรือไม่Sanook! Health มีคำตอบค่ะ

สเต็มเซลล์ คืออะไร?
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ตัวอ่อนของโลหิตที่อาศัยอยู่ในไขกระดูก และจะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด

ใครที่ต้องการสเต็มเซลล์ในการรักษาโรค
ผู้ป่วยที่มีอาการจากโรคต่อไปนี้
- ธาลัสซีเมีย (โลหิตจาง)
- โรคโลหิตจาง ชนิดที่เกิดจากไขกระดูกฝ่อ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เป็นต้น

บริจาคสเต็มเซลล์ของเราให้ผู้อื่นแล้ว เราจะเป็นอะไรหรือไม่?
การบริจาคสเต็มเซลล์ สามารถทำได้เหมือนการบริจาคโลหิตทั่วไป โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคใดๆ เพราะร่างกายสามารถผลิตสเต็มเซลล์ขึ้นมาทดแทนของเก่าได้อย่างรวดเร็ว



คุณสมบัติของผู้ที่บริจาคสเต็มเซลล์ได้
1. เพศใดก็ได้ น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
2. อายุ 17-70 ปีบริบูรณ์ หากอายุ 17 ปีต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง หากเป็นการบริจาคครั้งแรก ต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี
3. เคยบริจาคโลหิตมาก่อน และบริจาคอย่างสม่ำเสมอ
4. ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นไข้หวัด ท้องร่วงท้องเสีย
5. นอนหลับพักผ่อนเพียงพอในคืนก่อนวันบริจาค
6. ผู้หญิงไม่อยู่ในช่วงประจำเดือน
7. ผู้หญิงไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตร หรือทำแท้งในช่วงระยะเวลา 6 เดือน
8. น้ำหนักไม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ภายใน 3 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ
9. หยุดการทานยาต่างๆ เช่น แอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวดอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 3 วัน หรือหากเป็นยาแก้อักเสบหรือยาอื่นๆ ควรหยุดทานยามาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน
10. ไม่เป็นโรคหอบหืด โรคผิวหนัง วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่นๆ
11. ไม่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ตับ ไต มะเร็ง ไทรอยด์ หรือโรคประจำตัวอื่นๆ
12. หากเคยเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ควรเว้นระยะไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ผ่าตัดเล็กไม่ต่ำกว่า 1 เดือน
13. ไม่มีประวัติการใช้ยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษ จะต้องเกิน 3 ปี และมีสุขภาพดี
14. หากเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ต้องเว้นระยะ 1 ปี
15. หากเคยเป็นมาลาเรีย ต้องหายเกิน 3 ปี หรือหากเคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อมาลาเรีย ต้องเว้นระยะห่าง 1 ปี
16. ต้องไม่ได้รับวัคซีนในระยะ 14 วัน และเซรุ่มต่างๆตลอด 1 ปี
17. ทิ้งระยะหลังจากถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟันอย่างต่ำ 3 วัน
18. ก่อนบริจาคควรรับประทานอาหารให้เรียบร้อย ไม่ต้องอดข้าวอดน้ำ แต่หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้ามขาหมู ของทอด ของหวาน แกงกะทิต่างๆ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าจะมีข้อกำหนดในการรับบริจาคเยอะแยะ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริจาคเลือด ก็ถือว่าควรตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และอย่าโกหกเจ้าหน้าที่นะคะ อ่านเพิ่มเติม “5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการบริจาคเลือด”

บริจาคสเต็มเซลล์อย่างไร
เราต้องลงทะเบียน แสดงความจำนงว่าจะบริจาคสเต็มเซลล์ก่อนค่ะ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเลือดในระหว่างที่เรากำลังบริจาคโลหิต เพื่อเก็บข้อมูลลักษณะเลือดของเราเอาไว้ก่อน เมื่อไรก็ตามที่มีผู้ป่วยที่สามารถใช้เลือดเราได้ มีข้อมูลเลือดที่เข้ากันได้ เจ้าหน้าที่จะเรียกเราเข้าไปขอเก็บสเต็มเซลล์เองในภายหลังค่ะ
โดยการเก็บสเต็มเซลล์ จะมีอยู่ 2 วิธีคือ
1. บริจาคสเต็มเซลล์ผ่านหลอดเลือดดำ
โดยเจ้าหน้าที่จะฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ออกจากไขกระดูก มากระจายตัวในกระแสเลือดก่อน จากนั้นจึงเริ่มเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดที่ไหลออกมาผ่านเส้นเลือดดำ แล้วจะนำไปแยกสเต็มเซลล์ออกจากเลือดผ่านเครื่องที่อยู่ข้างนอกอีกครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาเก็บ : 3 ชั่วโมง

2. บริจาคสเต็มเซลล์ผ่านไขกระดูก
เจ้าหน้าที่จะใช้เข็ม และกระบอกฉีดยาเจาะเก็บจากสะโพกด้านหลัง (บริเวณขอบกระดูกเชิงกราน) โดยทำในห้องผ่าตัด หลังเก็บสเต็มเซลล์ผู้บริจาคอาจต้องพักฟื้นจนถึงวันรุ่นขึ้น และพักฟื้นต่อที่บ้าน 5-7 วัน
ใช้เวลาเก็บ : 2 ชั่วโมง


วันและเวลาทำการลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.00 น.
เสาร์, อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 15.00น.


ขอบคุณข้อมูลจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ภาพประกอบจาก istockphoto

Facebook Comments
0 Comment "สเต็มเซลล์ (Stem Cell) เซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร บริจาคอย่างไร"

Top