ฟับบิ้ง (Phubbing) อาการติดโซเชียลมากเกินไป ส่งผลร้ายถึงคนรอบข้าง

   Phubbing อาการติดโทรศัพท์ขั้นหนัก ไม่เพียงแค่ทำให้เสียสุขภาพ แต่ยังร้ายแรงถึงความสัมพันธ์  ลองมาเช็กกันสิว่าคุณกำลังเป็นหรือเปล่า ?

          ทุกวันนี้สังคมของเรา ถูกขนานนามว่า สังคมก้มหน้า เพราะต่างคนต่างก็ก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์กันโดยไม่สนใจคนอื่น ซึ่งการติดโทรศัพท์มาก ๆ ก็ไม่ได้ส่งผลแค่ปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ยังส่งผลเสียต่อสภาพจิต และก่อให้เกิดมารยาททางสังคมแบบผิด ๆ อีกด้วย วันนี้เราจะพามารู้จักกับอาการติดโทรศัพท์อย่างหนักที่มีชื่อเรียกว่าฟับบิ้ง (Phubbing) กันค่ะ ขอบอกว่าอาการนี้หนักกว่าการติดโทรศัพท์แบบทั่วไปอีกล่ะ เพราะสามารถติดต่อกันได้โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย พร้อมด้วยแบบทดสอบอาการฟับบิ้ง ที่จะบ่งบอกให้ทราบว่าคุณกำลังมีอาการเช่นนี้อยู่หรือไม่



 ฟับบิ้ง คืออะไร ?

          ฟับบิ้ง (Phubbing) แปลว่าอาการติดโทรศัพท์หรือโซเชียลขั้นรุนแรงจนกระทั่งไม่สนใจคนรอบข้าง คำว่าฟับบิ้งเป็นคำที่มาจากการผสมกันระหว่างคำว่า Phone และ Snubbing ซึ่งสาเหตุของอาการฟับบิ้งก็คือ ความกลัวที่จะตกข่าว หรือตามกระแสสังคมไม่ทันจนไม่ยอมควบคุมการเล่นโทรศัพท์ตัวเอง ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานหรือความสัมพันธ์ต่าง ๆ โดยผู้ที่มีอาการฟับบิ้งจะถูกเรียกว่า ฟับเบอร์ (Phubber) และมักจะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ หยิบโทรศัพท์ออกมาเล่นตลอดเวลาแม้ในขณะที่กำลังคุยกับคนรอบข้างอยู่ ไม่เพียงเท่านั้นอาการฟับบิ้งยังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นในขณะทำงาน ขับรถ รับประทานอาหาร หรือแม้แต่ขณะมีเพศสัมพันธ์

ฟับบิ้ง อาการเป็นอย่างไร
          อาการฟับบิ้งที่เห็นได้ชัดที่สุดนั่นก็คืออาการติดโทรศัพท์ชนิดที่ว่าไม่สนใจคนรอบข้าง โดยสิ่งที่มักจะทำอยู่ตลอดเวลาก็คือการจ้องหน้าจอโทรศัพท์ การอัพสถานะบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างเช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ หรือส่งข้อความคุยกับคนอื่นผ่านโปรแกรมสนทนาอยู่ตลอดเวลา ง่วนกับการเล่นโทรศัพท์มากกว่าคุยกับคู่สนทนาที่อาจจะนั่งอยู่ข้าง ๆ อย่างที่เราเห็นบ่อย ๆ เวลาคนนั่งกันเป็นกลุ่ม แต่เกือบทุกคนจะก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์ แทบไม่ได้คุยกันเหมือนแต่ก่อน

          นอกจากนี้ยังมักจะยิ้มหรือหัวเราะกับหน้าจอโทรศัพท์ และไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะต้องอัพสถานะเพื่อบ่งบอกสถานที่ที่ตัวเองอยู่เสมอ ๆ รวมทั้งการถ่ายรูปและอัพลงโซเชียลมากเกินความจำเป็น ทั้งนี้อาการเหล่านี้เรียกรวมสั้น ๆ ว่า อาการฟับ (Phub) ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่เราสามารถเช็กได้ว่าตัวเองมีอาการฟับบิ้งหรือไม่ จากแบบทดสอบนี้ค่ะ


 แบบทดสอบอาการฟับบิ้ง เช็กให้รู้ คุณติดโทรศัพท์มากไปหรือเปล่า ?

          แบบทดสอบอาการฟับบิ้งนี้จะช่วยให้คุณกลับมาย้อนมองตัวเองว่าตัวเองมีพฤติกรรมเหล่านี้บ้างหรือเปล่า และค้นพบว่าตัวเองมีอาการฟับบิ้ง หรือสุ่มเสี่ยงกับอาการติดโทรศัพท์ขั้นหนักหรือไม่ โดยผ่านการตอบคำถามง่าย ๆ ว่า "ใช่" หรือ "ไม่"

          1. เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น คุณมักจะลุกออกไปเช็กโทรศัพท์อยู่บ่อย ๆ

          2. แม้ว่าคุณจะอยู่กับคนอื่น คุณก็ไม่เคยละสายตาออกจากโทรศัพท์เลย

          3. ไม่ว่าจะอยู่กับใคร แต่โทรศัพท์ก็ยังอยู่ในมือตลอด

          4. หากคุณได้ยินเสียงโทรศัพท์ หรือเสียงเตือนโทรศัพท์ดังขึ้น คุณจะหยิบขึ้นมาดูในทันทีแม้ว่าจะกำลังคุยกับผู้อื่นอยู่

          5. คุณมักจะจ้องหน้าจอโทรศัพท์ตลอด แม้แต่ในเวลาที่กำลังคุยกับใครสักคน

          6. แม้กำลังอยู่กับเพื่อน ๆ คุณก็ยังหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กเวลาเบื่อ ๆ หรือเวลาที่มีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้น

          7. ต่อให้กำลังคุยอยู่กับเพื่อน คุณก็สามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ได้

          8. กำลังเดท หรืออยู่ในช่วงเวลาโรแมนติก คุณก็ยังหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กได้

          9. ถ้าหากคุณและอีกคู่สนทนาอีกฝ่ายเริ่มไม่มีอะไรจะคุยกัน คุณจะเริ่มหันไปให้ความสนใจกับโทรศัพท์แทน

          หากคุณตอบว่า "ใช่" 6 ข้อขึ้นไป นั่นหมายถึงว่าคุณกำลังมีอาการฟับบิ้ง หรือถ้าตอบว่า "ใช่" 3-5 ข้อ แปลว่าคุณกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะติดโทรศัพท์อย่างหนัก หรือกำลังเริ่มติดโทรศัพท์มากผิดปกติ แต่ถ้าน้อยกว่า 3 ข้อละก็ สบายใจได้ค่ะ เพราะคุณไม่มีอาการฟับบิ้งแน่นอน


ฟับบิ้ง ส่งผลเสียอย่างไร

          ผลเสียที่ชัดเจนที่สุดของการฟับบิ้งคือปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เพราะการฟับบิ้งนั้นจะทำให้คนที่อยู่ใกล้ ๆ รู้สึกอึดอัด และก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ขึ้น โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่า หากคนที่ไม่เคยมีพฤติกรรมติดโทรศัพท์นั้นถูกคนที่มีอาการฟับบิ้ง แสดงอาการ Phub ใส่ก็จะทำให้คนคนนั้นมีอาการ Phubbing ตามไปด้วย และจะไปแสดงอาการเดียวกันกับผู้อื่นต่อ กลายเป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด

          ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Computers in Human Behavior แสดงให้เห็นถึงผลเสียอื่น ๆ อีกว่า อาการฟับบิ้ง ไม่เพียงแต่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และมีความพึงพอใจในชีวิตลดลงอีกด้วย

          ซึ่งในการศึกษาดังกล่าวได้ทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 453 คน โดยแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม อาสาสมัครกลุ่มแรก 308 คน ได้รับแบบสอบถามเรื่องอาการฟับบิ้งที่พวกเขาได้เจอจากคนใกล้ชิด ซึ่งได้คำตอบไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ส่วนใหญ่มักตอบว่า เขามักเห็นคู่สนทนาของตนเองวางโทรศัพท์ไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้ตลอดเวลา และมักจะจ้องที่จอโทรศัพท์ขณะที่พูดคุยด้วย

          ส่วนกลุ่มที่ 2 อาสาสมัคร 145 คน (ซึ่งอาสาสมัครในกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มีคนรักหรือแต่งงานแล้ว) โดยพวกเขาได้รับแบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการถูก Phub ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ความพึงพอใจในชีวิตคู่ ความรู้สึกหดหู่ และอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดจากการพฤติกรรมฟับบิ้งของอีกฝ่าย ผลที่ได้คือกว่า 46% เคยถูกอาการฟับบิ้งจากคนอื่น และ 22.6% ยอมรับว่าอาการฟับบิ้งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ 

          นอกจากนี้การศึกษายังได้เผยให้เห็นว่า 37% ของอาสาสมัครรู้สึกอึดอัด เมื่อถูกอีกฝ่ายแสดงอาการ Phub ใส่ด้วยการก้มลงมองโทรศัพท์เพียงแค่ไม่กี่นาที และเกิดความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ ขึ้น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ความรู้สึกพึงพอใจในความสัมพันธ์ลดลง

          ทั้งนี้ อาการฟับบิ้งไม่ได้ส่งผลเสียในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ รวมทั้งปัญหาสายตาที่จะตามมาอีกมากมายจากแสงสีฟ้า อาทิ โรคซีวีเอส (Computer Vision Syndrome) ที่ทำให้เกิดอาการปวดตา แสบตา ตามัว และอาการปวดหัว หรืออาการต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม ที่อาจทำให้ตาบอดได้


 ฟับบิ้ง ป้องกันได้อย่างไร?

          อาการฟับบิ้งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเราสามารถควบคุมการใช้โทรศัพท์ของตัวเองได้ โดยควรใช้แต่พอดี ทั้งนี้หากเป็นไปได้ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่อยู่กับผู้อื่น หรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนที่มีอาการฟับบิ้ง หรือถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ ก็ลองหากิจกรรมสนุก ๆ และชักชวนให้กลุ่มคนเหล่านั้นร่วมด้วย เช่นกัน หากคุณไปรับประทานอาหารกับเพื่อนที่มีอาการดังกล่าว ก็ให้เพื่อนหยิบโทรศัพท์มาวางรวมกัน ใครหยิบโทรศัพท์ออกไปเล่นก่อนต้องจ่ายค่าอาหารหรือชักชวนคู่สนทนาพูดคุยในเรื่องที่เขาสนใจ ก็จะช่วยให้เขาหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาน้อยลงค่ะ

          อาการฟับบิ้ง ไม่ใช่แค่เพียงปัญหาเล็ก ๆ เฉพาะตัวบุคคล แต่ยังส่งผลต่อสังคมอย่างรุนแรง เพราะยิ่งมีคนที่มีอาการฟับบิ้งมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ต่อคนในสังคม จึงยังไม่สายถ้าหากเราจะช่วยกันเยียวยาสังคมก้มหน้านี้ ให้กลับมาเป็นสังคมที่มีการใช้โทรศัพท์กันอย่างพอดี เริ่มต้นกันวันนี้ที่ตัวเราเองกันเลยดีกว่าค่ะ

Cr. http://health.kapook.com/view151804.html

Tag : health
Facebook Comments
0 Comment "ฟับบิ้ง (Phubbing) อาการติดโซเชียลมากเกินไป ส่งผลร้ายถึงคนรอบข้าง"

Top